ซื้อรถ EV ดีไหม

ซื้อรถ EV ดีไหม

ช่วงนี้กระแสรถยนต์ที่ขับเคลื่อนโดยใช้พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) หรือที่เราเรียกติดปากว่า รถ EV กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก วันนี้มาลองดูการซื้อรถ EV ในมุมมองของ Value Proposition และ Innovation Adoption กันครับ

1. รถ Electric Vehicle (EV) คืออะไร

รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ Electric Vehicle หรือเราเรียกติดปากว่ารถ EV มีหลายประเภทครับ เช่น รถยนต์ Plug-in Hybrid (PHEV) ที่ได้รับความนิยมในช่วงที่ผ่านมา

แต่ที่ได้รับความนิยมมากในช่วงนี้ (ปี 2567) คือ รถยนต์ BEV (Battery Electric Vehicle) หรือรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ล้วนๆ ในการขับเคลื่อน โดยไม่ใช้น้ำมันเลย (เวลาพูดถึงรถ EV ในบทความนี้ หมายถึงรถยนต์ประเภท BEV เท่านั้นครับ)

ยี่ห้อรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย ถ้ามาจากฝั่งอเมริกา ก็คือ Tesla หรือ ถ้ามาทางฝั่งประเทศจีน เช่น BYD, AION, CHANGAN โดยยอดจองรถไฟฟ้าในงาน Motor Expo ปีล่าสุด คือปี 2566 คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 30 กว่าเปอร์เซนต์ ดังที่แสดงรายละเอียด จากภาพครับ

ยอดจองรถ EV ในงาน Motor Expo 2023 ครั้งล่าสุด พบว่ายอดจองรถในงาน 14 อันดับแรก มียี่ห้อรถ EV และยี่ห้อที่ขายรถ EV + รถน้ำมันติดอันดับถึง 6 ยี่ห้อ (ขอบคุณข้อมูลจาก Auto Life Thailand (ที่มา : Autolife Thailand)

เรียกได้ว่าเทรนรถ EV กำลังมา ยอดจองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงนำไปสู่คำถามว่า ถ้าเปลี่ยนรถคันถัดไป จะจองรถ EV ได้หรือยัง

2. ถึงเวลาซื้อรถ EV ได้หรือยัง ?

มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ได้วิเคราะห์คำตอบของคำถามนี้ในแง่มุมอื่นๆ ไว้หมดแล้วในเวปอื่น

เวป sophony.co จึงขอตอบด้วยหลัก innovation adoption และ value proposition เพื่อให้เข้ากับธีมเวปครับ (แนะนำให้อ่าน Innovation Adoption คืออะไร และ Value Proposition คืออะไร ก่อน)

2.1 คุณเป็น Innovator หรือ Early Adopter หรือเปล่า?

Innovator และ Early Adopter ก็คือ “หน่วยกล้าตาย” ที่ชอบลองของใหม่ ชอบเสี่ยง โดยพวก Innovator (2.5%) คือ ด่านหน้า ประเภท “ผมขอลุยเป็นคนแรกครับ!” ส่วนพวก Early Adopter (13.5% ถัดมา) คือพวก “ผมจะเดินตามพี่ไปติดๆ”

Innovator

พวก Innovator หรือ 2.5% แรก อาจซื้อรถ EV ไปตั้งแต่ช่วง 2562 – 2563 แล้ว สมัยยุคนำรถ EV ต้องนำเข้าทั้งคัน เช่น รถ Grey Market ของ Tesla ซึ่งมีความเสี่ยงสูง ใช้ในประเทศไทยเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ศูนย์เป็นทางการก็ยังไม่มี ที่ชาร์ทตามท้องถนนก็มีน้อยมากๆ แต่ชอบเสี่ยง ชอบลอง ก็จัดกันไป

Innovator กับรถ EV จึงเรียกว่า “รู้ว่าเสี่ยง และฉันต้องขอลอง”

Early Adopter

ส่วน Early Adopter เป็นช่วงนี้ครับ ช่วงที่ความเสี่ยงเริ่มลด (แต่ก็ยังสูง) ศูนย์ซ่อมเริ่มมี (แต่ก็ยังไม่เยอะ) ที่ชาร์ทเริ่มเยอะ (แต่ก็ยังไม่พอแบบเหลือๆ) ฯลฯ

เรียกว่าความเสี่ยงลดลงบ้างแล้ว แถมมี Innovator ทดลองให้กลุ่มแรกแล้ว (ก็ดูพอได้นี่นา) กลุ่มนี้ก็จัดตามด้วย เพราะอยากรู้ อยากลอง เช่นกัน ซึ่งหากดูจากสัดส่วนรถ EV เทียบกับรถน้ำมันโดยรวม ก็น่าจะเป็นช่วงนี้แหละครับที่ Early Adopter เริ่มหันมาซื้อรถ EV

Innovation Adoption Life Cycle โดย sophony.co
ใช้รถ EV ดีไหม ให้ลองดูใจตัวเองว่า เป็นพวกกล้าเสี่ยง อยู่ในกลุ่ม Innovator หรือ Early Adopters หรือเปล่า (อ่าน Innovation Adoption คืออะไร)

ดังนั้น ถ้าคุณมีความเป็น Innovator และ Early Adopter อยู่ในตัว ชอบเสี่ยง ชอบลองของใหม่ รู้สึกสนุกที่ได้ศึกษาสิ่งใหม่ๆ คุณซื้อรถ EV ได้เลยครับ

แต่ถ้าไม่ใช่ ไม่ได้ชอบเสี่ยงขนาดนั้น เป็นแนว “ชัวร์ไว้ก่อน” หรือต้องการให้ทุกอย่างลงตัวอีกนิด รอคนใช้เยอะๆ อีกหน่อย คุณอาจเป็น Early Majority หรือ Late Majority ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ชอบเสี่ยง กลุ่มช้าแต่ชัวร์ ถ้าคุณเป็นแบบนั้น รอสักพักแล้วค่อยซื้อดีกว่าครับ

2.2 รถ EV สร้าง Value ให้คุณแค่ไหน

แต่การที่คนจะเปลี่ยนจากสิ่งเก่า ไปยังอีกสิ่งใหม่ ก็อยู่ที่ว่า “คุณค่า (Value)” ของสิ่งใหม่ > ต้นทุนที่ต้องเสียจากการเปลี่ยนสิ่งใหม่ (Switching Cost) หรือเปล่า

ในกรณีนี้ ก็คือ คุณค่า Value ของรถ EV ของคุณ มากกว่า ต้นทุนในการเปลี่ยนมาใช้ EV (Switching Cost) ของคุณหรือเปล่า

เราจึงย้อนกลับไปดูว่า แล้วรถ EV มันสร้างคุณค่า (Value) อะไรให้คุณบ้าง

คุณค่า (Value) ของรถ EV

รถ EV ตอบ Job-to-be-Done อะไรของคุณได้บ้างหรือเปล่า

บางคน รถ EV อาจจะตอบ Functional Job ได้ไม่มาก เช่น เป็นคนใช้รถน้อยอยู่แล้ว แต่มันอาจตอบ Emotional Job (ก็ฉันอยากได้) หรือ Social Job (ก็ขับแล้วดูเท่ห์ อินเทรน) ของคุณได้มากกว่า

หรือ มันแก้ Pain Point ข้อสำคัญของคุณได้ไหม เช่น ถ้า Pain Point รถน้ำมันของคุณมันสูงมาก วิ่งรถเดือนละหลายพันกิโลเมตร จ่ายค่าน้ำมันเดือนละเป็นหมื่น และต้องจ่ายเอง เบิกไม่ได้ ก็อาจจะคุ้มที่จะเสี่ยงไปใช้รถ EV

ต้นทุนในการเปลี่ยน (Switching Cost) ของรถ EV

ด้าน Switching Cost ของคุณ มีอะไรบ้าง

เช่น ต้องเรียนรู้ระบบรถใหม่หมดนะ ต้องติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ ต้องรับความเสี่ยงของแบตหมดกลางทาง ต้องมาต่อคิวชาร์ทไฟนานกว่านะ ความไม่สบายใจ ความกังวลใจเวลาขับ ฯลฯ)

ซื้อรถ EV ดีไหม ต้องพิจารณาจาก Value และ Switching Cost ของรถ EV ทั้งสิ่งที่จับต้องได้ (Tangible) และจับต้องไม่ได้ (Intangible) เทียบกับรถน้ำมัน
ซื้อรถ EV ดีไหม ต้องพิจารณาจาก Value และ Switching Cost ของรถ EV ทั้งสิ่งที่จับต้องได้ (Tangible) และจับต้องไม่ได้ (Intangible) เทียบกับรถน้ำมัน

คุณค่า และ ต้นทุน ที่จับต้องได้ และ จับต้องไม่ได้ (Tangible and Intangible Value & Switching Cost)

อย่าลืมว่า ทั้ง “คุณค่า (Value)” และ “ต้นทุนการเปลี่ยน (Switching Cost)” ไม่ได้มีเฉพาะที่จับต้องได้ เช่น ตัวเงินเท่านั้น เช่น ค่าชาร์ทไฟเท่าไหร่ ประหยัดค่าน้ำมันได้เท่าไหร่ ค่าลงทุนขอให้การไฟฟ้ามาเดินไฟฟ้าใหม่ให้ ฯลฯ

แต่ “คุณค่า (Value)” และ “ต้นทุนการเปลี่ยน (Switching Cost)” ยังรวมถึง สิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น คุณค่าด้านอารมณ์ (Emotional Value) คุณค่าด้านสังคม (Social Value) หรือ ความกังวล ความไม่สบายใจ ความขี้เกียจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็น Value & Switching Cost เช่นกัน เผลอๆ จะชนะพวก Tangible Value & Switching Cost ด้วย เพราะสุดท้าย สิ่งที่เราต้องการปลายทางก็คือ “ความสบายใจ”

ถ้าทำกันจริงๆ ทำเป็นตาราง 2 x 2 ได้เลย จะเห็นภาพชัดเจนขึ้น ส่วนเรื่อง Tangible & Intangible Value & Cost ไว้ค่อยเขียนอีกบันทึกนะครับ

Value and Cost Matrix
Value and Cost Matrix ใช้ในการเปรียบเทียบ Value กับ Cost ทั้งสิ่งที่จับต้องได้ (Tangible) กับ สิ่งที่จับต้องไม่ได้ (Intangible)

เปรียบเทียบ Value VS Switching Cost ของรถ EV

หลักการก็คือ เรานำ คุณค่า (Value) มาเปรียบเทียบ ต้นทุนการเปลี่ยน (Switching Cost) โดยต้องนำ “คุณค่า” และ “ต้นทุน” ที่ที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ มาคิดนะ

ถ้าคุณประเมินแล้ว คุณค่า (Value) > ต้นทุนการเปลี่ยน (Switching Cost) ก็จะตอบได้ว่า คุณพร้อมซื้อรถ EV แล้ว

แต่ถ้า คุณค่า (Value) < ต้นทุนในการเปลี่ยน (Switching Cost) ยังไม่ต้องรีบซื้อก็ได้ รอไปก่อน

รออะไร?

รอให้ คุณค่า (Value) รถ EV เพิ่มมากขึ้น เช่น ส่วนต่างค่าไฟฟ้ากับค่าน้ำมันเยอะขึ้นเรื่อยๆ หรือ เพื่อนฉันใช้กันหมดแล้ว ฉันสบายใจที่จะใช้แล้ว ก็ถือเป็นคุณค่าที่เพิ่มขึ้น

หรือ

ต้นทุนในการเปลี่ยน (Switching Cost) ลดลง เช่น ค่าติดตั้งหม้อแปลง TOU ฟรีเลย หรือ ฉันพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้ว ไม่ขี้เกียจแล้ว

พอ Value > Switching Cost แล้วค่อยเปลี่ยน ก็ยังไม่สายครับ

3. สรุป ซื้อรถไฟฟ้า ดีไหม

สรุปว่า….แล้วแต่คนครับ

เพราะแต่ละคน มีการยอมรับความเสี่ยง ความกล้าลองของใหม่ แตกต่างกัน

เพราะแต่ละคน เห็นคุณค่า (Value) และ มีต้นทุนการเปลี่ยน (Switching Cost) แตกต่างกัน

หลักคิดก็คือ จะซื้อ หรือ ไม่ซื้อ ให้ดูว่า ตัวเราเอง ยอมรับนวัตกรรมใหม่ได้ระดับไหน เราให้คุณค่า (Value) กับรถ EV อย่างไร เรามีต้นทุนการเปลี่ยน (Switching Cost) อย่างไร

ที่สำคัญ คือ อย่าไปฝืน อย่าไปทำอะไร ที่ไม่ใช่ตัวเราเอง

ถ้าเราเป็นคนชอบเสี่ยง และ Value ของ EV ต่อตัวเราเยอะกว่า Switching Cost ก็ไม่ต้องลังเล

แต่กลุ่มนี้ไม่น่าห่วงหรอก เพราะโดยมากจัดกันไปหมดแล้ว บางคนมีรถ EV 2 – 3 คันแล้ว

แต่ที่ลังเล และเกรงว่าจะไปฝืนซื้อรถ EV ทั้งที่ตัวเองไม่สบายใจ ก็คือ กลุ่มที่ไม่ชอบเสี่ยง เป็นกลุ่ม Early Majority หรือ Late Majority ที่ปกติ ก็ชอบอะไรที่มันชัวร์ๆ แล้วค่อยซื้อ แต่พอเป็น EV แล้วลังเล เพราะเห็นคนใช้กันเยอะ เห็นเค้าว่ากันว่าเป็นรถสำหรับอนาคต ฯลฯ

หรือ คุณค่า (Value) ของ EV ต่อตัวเรายังไม่ชัด ไม่รู้ใช้แล้วชีวิตจะดีขึ้นอย่างชัดเจนอย่างไร

หรือ ต้นทุนการเปลี่ยน (Switching Cost) ของเราก็สูงมาก เป็นคนขี้กังวล ขับรถ EV ไปกลุ้มใจไป

ถ้าเราประเมินตัวเองแล้ว Switching Cost มากกว่า Value

เราก็ไม่ควรซื้อรถ EV ครับ จะซื้อรถใหม่ก็ซื้อรถน้ำมันได้ รอเปลี่ยนรถรอบถัดไปอีก 5 – 7 ปี ค่อยคิดอีกทีก็ได้

หวังว่า Innovation Adoption และ Value Proposition จะช่วยให้ผู้อ่านตัดสินใจเลือกรถคันถัดไปได้ง่ายขึ้น ได้ซื้อรถที่สบายใจกันทุกคนนะครับ

63636363636363636363636363

อ่านมาถึงตรงนี้ก็ต้องขอบคุณผู้อ่านมากครับ เรื่อง การใช้ Innovation Adoption และ Value Proposition ในการวิเคราะห์เรื่องต่างๆ เป็นเรื่องสนุกและ เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างคุณค่า (Value Proposition) ซึ่งยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจกว่านี้อีกมาก ถ้าอยากอ่านเรื่องอื่นเกี่ยวกับ value proposition design และ business model รวมถึงเรื่อง strategy เพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากหน้าสารบัญ 

หากผู้อ่านอยากรู้เรื่อง Value Proposition Analysis แบบลึกซึ้ง สามารถติดต่อผู้เขียนเรื่องฝึกอบรมหรือการทำ workshop ได้ โดยสามารถดูรายละเอียดช่องทางการติดต่อผู้เขียนได้ที่ About ครับ


บันทึกนี้อยู่ในซีรีย์ การออกแบบคุณค่า (Value Proposition Design) สามารถอ่านเรื่องอื่นในซีรีย์เพิ่มเติมได้จาก Link


โสภณ แย้มกลิ่น (Sophon Yamklin) Avatar